คอลัมน์ กากีนั้ง
วารสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 2 ปี 2562
ดาวน์โหลดเอกสาร

Walk’in Chinatown : สนุกกับการเดินในไชน่าทาวน์

ไชน่าทาวน์ต้องเดิน

การเดินทางภายในเขตสัมพันธวงศ์หรือไชน่าทาวน์นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะต้องใช้การเดินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเดินไปจับจ่ายซื้อของ ไหว้พระไหว้เจ้า หาของอร่อยกิน เปลี่ยนรถเปลี่ยนเรือ เดินเที่ยวแบบทั้งมีหรือไม่มีจุดหมายก็ตาม แม้แต่เวลาจะชวนใครสักคนไปด้วยกันก็ยังใช้คำชวนว่า “…ไปเดินเยาวราชกัน…” เพราะเส้นทางสัญจรจำนวนมากมีขนาดเล็ก เดินรถทางเดียว หรือไม่สามารถขับรถยนต์เข้าไปได้ในหลายบริเวณ ด้วยเหตุนี้ การเดิน จึงถือเป็นทางเลือกที่ช่วยประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางได้มากกว่าการขับรถหลายเท่าตัว

เรามักพบว่า การเดินทางมาย่านไชน่าทาวน์ของคนทั่วไปแต่ละครั้ง มักจะมีมากกว่าหนึ่งเป้าหมายและใช้เวลาอยู่ที่นี่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน อาจเพราะย่านนี้มีกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถรองรับความต้องการของผู้มาเยือนได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากความเป็นย่านการค้า ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและความบันเทิงของเมืองมาก่อน ถึงแม้ว่าในความคิดของหลายๆ คนจะรู้สึกว่าการเดินทางมาย่านนี้เป็นเรื่องยาก ผู้คนเบียดเสียด อากาศร้อน และเส้นทางดูสับสน แต่ก็ยังมีความน่าค้นหาจากความเป็นธรรมชาติที่มาจากผู้คนและวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยังมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ยังมีสถานที่น่าสนใจซ่อนตัวอยู่ในตรอกทางเดินหลายแห่ง รอให้นักสำรวจย่านเข้ามาเดินซอกแซก ลองดูลองชิม ให้สมกับความตั้งใจที่เดินทางมาถึงที่นี่ในแต่ละครั้งในปี พ.ศ. 2562 เขตสัมพันธวงศ์จะเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน(สายวงกลมรอบกรุงเทพฯ) ทั้ง 3สถานีบนถนนเจริญกรุง ทำให้พื้นที่ 1.5 ตารางกิโลเมตรนี้ เป็นแหล่งรวมจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่หลากหลาย ทั้งท่าเรือด่วนเจ้าพระยา ท่าเรือข้ามฟาก ท่ารถเมล์ รวมกว่า 20 จุด ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันไม่ถึง 800เมตร หรือเท่ากับการใช้เวลาเดินราวๆ 8-10 นาทีเท่านั้น (อ้างอิงจากการสำรวจระยะทางที่คนกรุงเทพฯ จะยอมเดินจากโครงการเมืองเดินได้-เดินดี: www.goodwalk.org ) เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การจอดรถไว้ที่บ้าน แล้วสะพายเป้กับกล้องออกมาตะลอนเดินในย่านไชน่าทาวน์เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ไปพร้อมกับการเผาผลาญแคลอรี่จากอาหารมากมายระหว่างทางไปด้วยแบบไม่ต้องกังวลกับการหาที่จอดรถและค่าจอดรถรายชั่วโมงกันอีกต่อไปก็ดูจะเป็นความคิดที่ดีไม่น้อย

ตำแหน่งของจุดเปลี่ยนการสัญจรที่อยู่ในระยะเดินถึงจากสถานีวัดมังกรกมลาวาส

ทำไมถึงไม่เดินในไชน่าทาวน์?

            กลุ่มคนที่เราจะกล่าวถึงในที่นี้คือผู้คนที่เดินทางมาเพื่อทำธุระต่างๆ ในย่าน ไม่รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในย่านที่จะต้องเดินในละแวกบ้านเพื่อจัดการธุระในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โครงการย่านจีนถิ่นบางกอกได้ทำการเก็บข้อมูลเส้นทางสัญจรในเขตสัมพันธวงศ์ และสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ ภายในช่วง 1-2 ปีนี้ พบว่ามีปัจจัยหลัก 4 ข้อ ที่ส่งผลให้คนไม่อยากเดินในย่านไชน่าทาวน์ ดังนี้

1. ความไม่สะดวกสบายในการเดินจากอากาศร้อน ความไม่สะอาด และจำนวนคนที่แออัดบนเส้นทางเดินในย่านการค้า โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ที่บางครั้งอาจจะมีผู้คนมากขึ้นเป็นเท่าตัว จึงต้องการหลีกเลี่ยงการเดินบนถนนหรือซอยที่เป็นย่านการค้านั้นๆ

2. มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้นคนกลุ่มนี้มักเลือกเดินทางตรงไปยังเป้าหมายเพื่อจัดการธุระและเดินทางกลับโดยไม่สนใจสถานที่หรือกิจกรรมอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เพราะต้องการประหยัดเวลาและหลีกหนีความวุ่นวายในพื้นที่

3. ไม่รู้จักเรื่องราวของพื้นที่  ทำให้ขาดความสนุกหรือขาดแรงจูงใจในการเดิน เนื่องจากภายในพื้นที่นั้นแทบจะไม่มีการให้ข้อมูลกับผู้เข้าชมสถานที่อย่างเป็นระบบ เช่น ป้ายบอกรายละเอียด เว็บไซต์ หรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่ให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาความสำคัญของพื้นที่ และความเชื่อมโยงของสถานที่กับชุมชน ซึ่งมักจะพบเพียงจุดสำคัญที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอยู่แล้วเท่านั้น

4. ไม่รู้จักเส้นทางเนื่องจากในพื้นที่มีซอยและป้ายบอกทางที่ซ้ำซ้อนอยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้ผู้คนที่ไม่คุ้นเคยต่างรู้สึกสับสนหรือหลงทางได้ง่าย จากการสังเกตพฤติกรรมการเดินของคนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่นั้น มักเลือกเฉพาะเส้นทางหลักหรือเส้นทางที่มีข้อมูลท่องเที่ยวแนะนำเท่านั้น เพื่อป้องกันการหลงทาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจมีทางเลือกมากกว่า 2-3 เส้นทางที่มีความแตกต่างกัน ทั้งสภาพเส้นทาง บรรยากาศ และกิจกรรมระหว่างการเดินที่เหมาะสมกับธรรมชาติหรือความสนใจของผู้เดินแต่ละคนในการไปถึงที่หมายเดียวกันปัจจัยสำคัญเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อแรงจูงใจสำหรับการเดินในพื้นที่ โครงการย่านจีนถิ่นบางกอกจึงได้สร้าง Walk’in Chinatown(www.walk.in.th) สำหรับช่วยให้การเดินในย่านไชน่าทาวน์เขตสัมพันธวงศ์ง่ายขึ้น ทั้งการบอกทิศทางและบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่สำคัญในมิติของความเป็นท้องถิ่น

แผนที่ออนไลน์ของชุมชน

ก่อนจะพัฒนามาเป็นWalk’in Chinatownซึ่งเป็นแผนที่แนะนำเส้นทางการเดินออนไลน์ โครงการย่านจีนถิ่นบางกอกได้ทำแผนที่สำหรับย่านตลาดน้อย และแผนที่แนะนำ10เส้นทางการเดินในเขตสัมพันธวงศ์ในรูปแบบของแผ่นพับมาก่อน โดยใช้แนวคิดของการนำเสนอความน่าสนใจของพื้นที่ผ่านมุมมอง เรื่องเล่า และข้อมูลประวัติศาสตร์จากท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งประสบความสำเร็จในการแนะนำพื้นที่และสื่อสารกับสังคมภายนอกอยู่พอสมควร แต่เนื่องจากแผ่นพับนั้นมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น จำนวนข้อมูลที่เหมาะสมกับขนาดของหน้ากระดาษที่มีอยู่อย่างจำกัด การปรับปรุงแผนที่ให้เป็นปัจจุบัน จุดสำหรับแจกจ่ายแผนที่ ไปจนถึงงบประมาณในการจัดพิมพ์แผนที่ในแต่ละครั้ง เราจึงนำประสบการณ์และความเห็นที่ได้จากการทำกิจกรรมของโครงการฯ มาพัฒนาเป็นแผนที่ออนไลน์ ให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากแผนที่แผ่นพับ แต่ยังรักษาแนวคิดของความเป็นแผนที่จากคนในชุมชนไว้ นอกจากนี้ ยังวางแผนให้ชุมชนเป็นเจ้าของและจัดการเองได้ในอนาคต ด้วยการออกแบบระบบให้ไม่ซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้ชุมชนนำไปพัฒนาต่อยอดได้

จุดเริ่มต้นของแนวคิด คือ การสร้างเครื่องมือที่เป็นมิตรกับชุมชน โดยชุมชนสามารถร่วมเป็นเจ้าของและพัฒนาต่อยอดได้เพื่อความยั่งยืน แผนที่นี้จะต้องทำได้มากกว่าการบอกทิศทางจากระบบนำทาง GPS ดังนั้น การพัฒนาแผนที่จึงเน้นการนำข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนได้เดินและปฏิสัมพันธ์กับสถานที่หรือผู้คน เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงของผู้ใช้จากเกร็ดความรู้และกิจกรรมที่ชุมชนแนะนำการทำงานของWalk’in Chinatownนี้ ทำหน้าที่เสมือนระบบแนะนำย่านแบบออนไลน์ (Online Town’s Guide System) ด้วยเว็บแอปพลิเคชัน(Web Application) ที่ประกอบด้วยการรวบรวมข้อมูลจากชุมชนในลักษณะของสารานุกรมท้องถิ่น ทั้งในด้านของวิถีชีวิต ผู้คน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี เทศกาล สถานที่สำคัญ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บอกเล่าที่มาจากความทรงจำของคนในพื้นที่ แล้วนำข้อมูลไปแสดงผลอยู่บนแผนที่นำทางที่ชุมชนสามารถเพิ่มเติมหรือปรับลดข้อมูลทั้งตัวอักษร ภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การประชาสัมพันธ์กิจกรรมและเทศกาลในย่าน ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นระบบที่สามารถสนับสนุนด้านเศรษฐกิจชุมชนได้อีกเช่นกัน

แนวคิดและการทำงานของWalk’in Chinatown(www.walk.in.th)

นอกจากWalk’in Chinatownจะเป็นเครื่องมือที่พาผู้ใช้เข้าไปสำรวจพื้นที่แล้ว ยังสนับสนุนให้ผู้ใช้นำเส้นทางและประสบการณ์ที่ตนได้รับมาแบ่งปันกันในแวดวงสังคมออนไลน์ของผู้ใช้ด้วยกันเอง เพื่อสร้างให้เกิดชุมชนของผู้รักการเดินในย่านไชน่าทาวน์ ในเวลาเดียวกัน ระบบจะบันทึกข้อมูลเส้นทางที่ถูกเลือกเดิน ข้อมูลการเยี่ยมชมสถานที่ เพื่อรวบรวมสถิติจากพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่สามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาย่านอย่างมีทิศทางในอนาคต

คอลัมน์ กากีนั้ง
วารสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 2 ปี 2562
ผู้เขียน : จุฤทธิ์ กังวานภูมิ