ตรุษจีน : เทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงฤดูใบผลิของคนจีนทั่วโลก

หัวใจสำคัญของเทศกาลตรุษจีน

ชาวจีนเชื่อว่าในธรรมชาติล้วนมีความไม่แน่นอนเป็นสัจธรรม ย่อมมีการเกิดและดับไป มีกลางคืนย่อมมีกลางวัน
เพื่อรักษา ดุลยภาพ สองสิ่งต่างกันแต่ก็อยู่ซึ่งกันและกันได้อย่างสมดุล หรือที่เรียกว่าพลัง “อิน-หยาง” ดังนั้นในวัฒนธรรมจีนจึงให้ความสําคัญกับเทศกาลต่าง ๆ มีพิธีกรรมเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อธรรมชาติ เพราะในอดีตคนจีนพึ่งพิงอาศัยธรรมชาติและฤดูกาลในการทํามาหากิน เลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว โดยจะมีพิธีกรรมเซ่นสรวงธรรมชาติแห่งฤดูกาลทั้งสี่ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างฤดูกาล ทิศทาง และมนุษย์ตรุษจีน เป็นเทศกาลแห่งฤดูใบไม้ผลิ (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของจีน) เทศกาลใหญ่ที่สุดของการไหว้เซ่นสรวงธรรมชาติ จะมีการไหว้เพื่อขอบคุณ ธรรมชาติฟ้า-ดินและบรรพบุรุษแม้จะผ่านพ้นฤดูแห่งความหนาวเย็นมาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเพาะปลูกพืชพรรณได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นเทศกาลที่เป็นโอกาสให้พี่น้อง ที่อยู่แดนไกลได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนบุพการี และญาติมิตรในครอบครัวที่แยกย้ายกันไปทำงาน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเทศกาล

ตรุษจีนกับความเชื่อ

โดยตามธรรมเนียม นอกจากจะมีการรับประทานอาหารเย็นร่วมกันแล้ว ทุกคนในครอบครัวยังจะออกมาช่วยกันปัดกวาดเช็ดถูบ้านให้สะอาด เพราะเชื่อว่าเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกไป ในขณะเดียวกันก็จะประดับตกแต่งประตูบ้านด้วยกลอนคู่ “ตุ่ยเลี้ยง” ที่มีความหมายมงคล ทั้งในเรื่องของความโชคดี ความสุข ความมั่งคั่ง และการมีชีวิตที่ยืนยาว โดยเทศกาล ตรุษจีน ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ และจะยาวนานต่อเนื่อง ไปอีก 15 วัน จึงถือเป็นการสิ้นสุดการเฉลิมฉลองปีใหม่

สําหรับประเทศไทย ช่วงเทศกาลตรุษจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนก็ยังคงมีการสืบทอดปฏิบัติตามธรรมเนียมเดิมอยู่บ้าง
แต่ที่คนส่วนใหญ่ยังนิยมปฏิบัติจะเป็นช่วง 3 วันแรกของเทศกาลตรุษจีน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว

วันจ่าย คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหาร ผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่หรือตี่จู้เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน

วันไหว้ คือวันสิ้นปี โดยจะมีการไหว้ทั้งหมด 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้ามืด ช่วงสาย และช่วงบ่าย

ช่วงเช้ามืด ไหว้ “ป้ายเล่าเอี๊ย” เป็นการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ ซําเช้ง) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือ เพิ่ม ตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหงวแซ) เหล้า น้ำชา และ กระดาษเงินกระดาษทอง

ช่วงสาย ไหว้ “ป้ายแป๋บ้อ” คือการ ไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความ กตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษ เพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นญาติพี่น้องจะมาร่วมกันรับประทานอาหารที่ได้
เซ่นไหว้ไปเพื่อเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด โดยจะมีการแลกเปลี่ยนอั่งเปา หลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว

ช่วงบ่าย ไหว้ “ป้ายฮ่อเฮียตี๋” เป็นการ ไหวผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงิน กระดาษทอง พร้อมทั้งจัดปะทัดไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล

วันเที่ยว หรือวันขึ้นปีใหม่จีน วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ “ป้ายเจีย” เป็นการไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ และจะเรียกวันนี้ว่าวันถือ เพราะชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล โดยจะงดการทำบาป ไม่พูดจาไม่ดี ไม่ทวงหนี้ ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้านกันเมื่อวันเวลาย่างเข้าสู่การขึ้นรอบปีใหม่ หรือเข้าสู่วันตรุษจีน (วันเจียห่วยชิวอิก ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ของจีน) ตามประเพณีจีนจะมีธรรมเนียมที่ปฏิบัติ กันมาอย่างต่อเนื่องคือการไหว้เทพเจ้า “ไฉ่ซิงเอี๊ย” ซึ่งเป็นเทพเจ้าดวงดาวแห่ง โชคลาภ และความมั่งคั่ง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวในวันเริ่มต้นใหม่ของปี

ที่มาของส้มมงคลในช่วงตรุษจีน

ส้มในภาษาแต้จิ๋วออกเสียงว่า “กิก” (橘) ไปพ้องกับคำว่าความสุข หรือ โชคลาภ ส่วนในภาษาฮกเกี้ยนและภาษากวางตุ้ง เรียกส้มว่า “ก้าม” (柑) ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนการนำความสุขหรือโชคลาภไปให้ โดยจะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห้อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย 

ที่มาของขนมเข่งในช่วงตรุษจีน

ตรุษจีน เป็นเทศกาลแห่งฤดูใบไม้ผลิ (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของจีน) แม้จะเป็นช่วงที่ผ่านพ้นฤดูแห่งความหนาวเย็นมาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเพาะปลูกพืชพรรณได้อย่างเต็มที่  สมัยก่อนยังไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ เป็นช่วงระหว่างรอผลผลิตจึงอาศัยอาหารที่มีอยู่ในรูปของน้ำตาลและแป้งข้าวเหนียว นำมาแปรรูปเป็นขนมเข่ง ที่สามารถเก็บไว้กินได้นานเป็นเดือน 

เรียบเรียงจาก
จุฬารัตน์ นฤพันธาวาส. (2556). ฤดูแห่งเทศกาล. ย่านจีนถิ่นบางกอก, 2 (5), 12.
จุฬารัตน์ นฤพันธาวาส. (2556). ตรุษจีนเทศกาลของคนจีนทั่วโลก. ย่านจีนถิ่นบางกอก, 2 (5), 16.
จุฬารัตน์ นฤพันธาวาส. (2556). เกร็ดความรู้การไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยะในเทศกาลตรุษจีน. ย่านจีนถิ่นบางกอก, 2 (5), 17.