คอลัมน์ เผ่าพันธุ์จีน
วารสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 1 ปี 2562
ดาวน์โหลดเอกสาร

คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักตลาดน้อย

วันนี้ อยากพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ พี่ฝุ่ง : อมรา สมกมลสกุล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคนรักตลาดน้อย ที่เกิดและโตในย่านตลาดน้อย และหวังที่จะช่วยให้ตลาดน้อยพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีคุณค่า

ก่อนที่จะรู้เหตุผลและมุมมองต่อตลาดน้อยของพี่ฝุ่ง เราไปทำความรู้จักประวัติคร่าวๆ ของพี่ฝุ่งกันก่อนดีกว่าค่ะ : พี่ฝุ่งเล่าว่า ในสมัยเด็กๆ เธอเกิดและโตอยู่ที่บ้านหลังเก่าบริเวณชุมชนโชฎึก ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังนี้ บนถนนวานิช2 ที่มีหน้าร้านทำแหนบรถยนต์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นร้านขายกาแฟ ที่ยามเช้าจะเป็นสภากาแฟเล็กๆ ของคนในชุมชน และยามบ่ายก็กลายเป็นที่แวะเวียนของลูกค้านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

พี่ฝุ่งถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบคนไทยเชื้อสายจีน คือ การส่งลูกเรียนในโรงเรียนจีนอย่างโรงเรียนจี้เจิ้ง (ปัจจุบันปิดทำการลงแล้ว)ที่นอกจากเรียนวิชาการทั่วไปแล้ว ยังเรียนรู้ภาษาจีนจากเหล่าซือ (ครูใหญ่) เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย รวมทั้งการประกอบกิจการทางบ้านของคุณพ่อพี่ฝุ่ง ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงการเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่มีความรู้เชิงช่าง ส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และยังการันตีว่าเป็นคนตลาดน้อยที่แท้จริงอีกด้วย กับการประกอบอาชีพค้าอะไหล่เก่า หรือที่รู้จักกันในนาม เซียงกง โดยทางคุณพ่อพี่ฝุ่ง ขายแหนบรถอีแต๋น และเสริมแหนบรถยนต์ “…เพราะความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของอาชีพเกษตรกรรมในประเทศไทย จึงมีความต้องการมาก มากจนเห็นคุณพ่อต้องนั่งทำ แหนบรถอีแต๋นตั้งแต่เช้าจนถึง 3 ทุ่มเกือบทุกวัน แต่ในปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งเครื่องจักรทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การใช้รถอีแต๋นลดลง ความต้องการแหนบรถ และการเสริมแหนบจึงลดลงตาม รวมทั้งอายุของคุณพ่อที่มากขึ้น ช่างฝีมือ และลูกจ้างก็ลดน้อยลง…” ทำให้ปัจจุบันหยุดทำกิจการดังกล่าวลง และเปลี่ยนมาประกอบกิจการขายกาแฟและเครื่องดื่ม ภายใต้ชื่อร้าน Blacksmith Café แทน

พอถามถึงภาพจำของพี่ฝุ่งในช่วงเวลา30 กว่าปี ต่อย่านตลาดน้อย พี่ฝุ่งเริ่มเล่าจากตัวบ้านปัจจุบัน ก่อนที่คุณพ่อของเธอจะซื้อมาทำกิจการ คือ “…เป็นหน้าร้านขายเพชรพลอยที่เชื่อมกับซอยเจริญกรุง 22 ที่อดีตมีร้านขายพลอยเรียงราย และยังมีร้านบริเวณปากซอยที่ยังคงขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์สำหรับเจียรพลอย รวมทั้งโรงทำเครื่องประดับบริเวณหน้ากรมเจ้าท่าที่ยังคงประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน…เป็นเหมือนจุดรองรับกิจการให้กับย่านขายทองเยาวราช และย่านขายเพชรพลายสุรวงศ์…”

พอขยับภาพจำไปจากตัวบ้าน เธอก็เริ่มเล่าจากพื้นที่ใกล้เคียงอย่างบริเวณหน้ากรมเจ้าท่าว่า “…ตึกรามบ้านช่องเปลี่ยนจากตึกไม้พื้นต่ำกว่าถนน เป็นตึกปูนสูงใหญ่ ส่วนด้านหลังก็เปลี่ยนไปเป็นแฟลต และอะพาร์ตเมนต์เกือบทั้งหมด นอกจากตึกรามบ้านช่อง ผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน บ้างก็ล้มหายตายจาก บ้างก็ย้ายออกไป ทำให้กิจการ อาชีพ งาน และการอยู่อาศัยในย่านก็เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมทั้งค้าขายและนอนในตลาดน้อย ปัจจุบันเป็นเพียงที่ค้าขายและออกไปพักอาศัยข้างนอกแทน…” แต่บ้านพี่ฝุ่งยังคงทำมาค้าขายและพักอยู่ที่นี่ดังเช่นในอดีต ก็เพราะ “…ที่นี่ยังกว้างขวางพอ เรายังอยู่แล้วมีความสุข เรามองว่าที่นี่สะดวกสบาย ใกล้หลายๆ อย่าง อยู่ในแหล่งชุมชน ใกล้อาหารการกิน ใกล้ตลาด ใกล้ขนส่งมวลชนทุกประเภท ทั้งรถเมล์ เรือ รถไฟใต้ดิน…”

เรียกว่าตั้งแต่เด็กจนโต พี่ฝุ่งก็ใช้ชีวิตอยู่ในย่านตลาดน้อยมาโดยตลอด และด้วยความเป็นคนตลาดน้อยเต็มตัว จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พี่ฝุ่ง ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มคนรักตลาดน้อย (คณะทำงานที่จัดตั้งโดยคนในชุมชน รวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรม และพัฒนาฟื้นฟูย่านตลาดน้อย) สาเหตุแรกเริ่มในการเข้ามาช่วยทำงานในกลุ่มคนรักตลาดน้อย เพราะการชักชวนของแกนนำรุ่นพี่อย่างพี่จุ๊ (จุภาภรณ์ กังวานภูมิ) และพี่รุ่ง (รุ่งจันทร์ เฉลิมวิริยะ) ที่อยากหาคนมาช่วยจัดการเรื่องงานเอกสารสำหรับติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ และพี่ฝุ่งก็มองว่าตัวเองพอทำได้ “…จึงอยากใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่ให้เป็นประโยชน์  และมองว่าการทำงานให้ชุมชนไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เรารู้สึกว่ามันจะเป็นประโยชน์ในอนาคตข้างหน้าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้กับชุมชน และเป็นการเปิดให้เรารู้จักคนมากขึ้นด้วย เปิดโลกทัศน์ให้กว้าง ให้เรารู้ว่าชุมชนเราควรจะเดินไปทางไหน เราจะเอาความรู้อะไรไปช่วย ช่วยชุมชนอย่างไร…” รวมทั้งพี่ฝุ่งยังเสริมอีกว่า ในปัจจุบัน “…ตลาดน้อยเปลี่ยนไปเพื่อรองรับการท่องเที่ยวมากขึ้น มีนักท่องเที่ยว ทัวร์เดิน ทัวร์จักรยาน ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีคนใหม่เข้ามา สังคมก็ต้องเปลี่ยน การค้าก็ต้องเปลี่ยน แต่อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะเปลี่ยนช้าหรือเร็ว จะใช้ศักยภาพของตัวเอง ความถนัดของตัวเอง มาทำอะไรในพื้นที่…เช่น ถ้าเราโปรโมทให้ตลาดน้อยเป็นที่รู้จักจากคนภายนอก พอคนเข้ามาเที่ยว แวะมาตลาดน้อย สินค้า อาหารการกิน ร้านค้าที่อยู่ในตลาดน้อยก็ย่อมอยู่ได้ เป็นการเกื้อกูลพึ่งพาซึ่งกันและกัน…” ส่วนตัวพี่ฝุ่งเองมองว่า “…ถึงการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงจะมาอย่างรวดเร็ว ส่วนตัวมองว่าบางอย่างก็อาจต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่บางอย่างที่สามารถปรับให้เข้ากับยุคสมัยได้ก็อยากให้เก็บไว้ เช่น อาคารเก่า บ้านเก่า โดยเฉพาะในตลาดน้อยที่มีบ้านหลายหลังเป็นบ้านเก่า ส่วนตัวก็อยากให้เก็บไว้ ไม่อยากให้ทุบทิ้ง เพราะแต่ละหลังก็มีเรื่องราวเฉพาะของตัวเอง ถ้าเราปลูกฝังคนในพื้นที่ เจ้าของบ้าน เจ้าของอาคาร ให้รับรู้ถึงคุณค่า ประวัติ และความสำคัญของตนเอง…ให้รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่ยังคงรักษาอาคารเหล่านั้น ไว้ได้อยู่…ส่งเสริมให้น่าสนใจ และให้คนได้รู้เรื่องราวของสถานที่นั้นๆ เพราะในตลาดน้อย พื้นที่เป็นซอยขนาดเล็กสามารถใช้การเดินเพื่อแวะได้ทุกๆ ที่ หากนักท่องเที่ยวได้พบเจอผู้คน ได้พูดคุย ได้รู้เรื่องราว ประวัติของอาคาร หรือพื้นที่นั้นๆ ก็เป็นการส่งเสริม การท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่ง…”สุดท้ายพี่ฝุ่งมองว่า “…ไม่ว่าตลาดน้อยจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่พี่มองว่ามันจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถ้าเราปลูกฝังลงไปในเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ

คอลัมน์ เผ่าพันธุ์จีน
วารสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 1 ปี 2562
เรื่อง : ปณัฐพรรณ ลัดดากลม
ภาพ : ชัชพงศ์ กมลศักดิ์พิทักษ์