วารสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 1 ปี 2562
ดาวน์โหลดเอกสาร

(re)NEW ROAD: ถนนเจริญกรุงกับ 150 ปีที่ผ่านไป

ถนนเจริญกรุง เส้นทางสัญจรที่สำคัญเส้นหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ทอดยาวผ่านเขตพระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก สาทร บางคอแหลม ซึ่งในอดีตเป็นย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีรถราง และเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจต่างๆ ในประเทศ รวมถึงกิจการการค้าระหว่างประเทศจำนวนมาก นับได้ว่าถนนสายนี้เป็นถนนสายสำคัญที่เติบโตไปพร้อมกับกรุงเทพฯในยุคที่ก้าวสู่ความทันสมัยแบบตะวันตกทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมตั้งแต่เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ155ปีที่แล้ว

เมื่อวันที่5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเส้นใหม่ขึ้นในพระนคร ขนาดกว้าง 4 วา เชื่อมพระนครจากถนนสนามไชยไปจนถึงย่านท่าเรือชานเมืองที่ถนนตก รวมระยะทางทั้งสิ้น 8,575เมตรถนนเส้นนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการใช้รถม้าของชาวต่างประเทศตามคำขอของกงศุลหลายชาติ ใช้เวลา 2ปี จึงสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2407เป็นถนนรุ่นแรกๆ ของกรุงเทพฯ ที่ใช้เทคนิคและแนวคิดการก่อสร้างแบบฝรั่ง ในเวลานั้น ถือเป็นแบบอย่างในการสร้างถนนเส้นอื่นๆ ตามมา เมื่อถนนสร้างเสร็จใหม่ๆ คนทั่วไปจะเรียกว่า “ถนนใหม่” ชาวตะวันตกเรียกว่า “นิวโรด” (New Road) ต่อมา ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนเส้นนี้ว่า “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนครในเวลาไล่เลี่ยกัน

เมื่อดูตามเส้นทางของถนนจะพบว่า ถนนเจริญกรุง ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นถนนที่เชื่อมย่านสำคัญ 3 ย่าน ได้แก่ เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ที่เป็นศูนย์กลางการปกครองและวังต่างๆ บริเวณถนนมหาไชยจนถึงคลองรอบกรุง ต่อมาคือ ย่านชุมชนคนจีนที่เป็นย่านค้าขาย ท่าเรือ ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าของเมืองบริเวณสำเพ็งตั้งแต่คลองรอบกรุง มาจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม และสุดท้ายคือ ย่านชานพระนคร ตั้งแต่ย่านบางรักที่เป็นย่านของชาวตะวันตก ซึ่งอยู่ถัดจากคลองผดุงกรุงเกษม ยาวไปจนถึงถนนตก แม้ว่าถนนเจริญกรุงจะตัดผ่านย่านของคนหลากหลายเชื้อชาติ แต่ในภาพรวมนั้น ถนนเจริญกรุงเป็นเสมือนศูนย์รวมวัฒนธรรมตะวันตก ดังปรากฏให้เห็นจากลักษณะอาคารสถาปัตยกรรม และกิจการห้างร้านที่ได้รับอิทธิพลแบบตะวันตกมากมาย ด้วยเหตุนี้ ย่านถนนเจริญกรุงจึงเป็นย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรม (CBD: Central Business District) ในยุคแรกๆ ของกรุงเทพมหานครในเวลานั้น    ถนนเจริญกรุง มีความสำคัญต่อเมืองมากขึ้นหลังจากช่วงทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ซึ่งเปิดการค้าเสรีโดยอนุญาตให้สหราชอาณาจักรเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยได้ และต่อมาจึงเป็นชาวตะวันตกชาติอื่นๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ประเทศไทยจึงเริ่มหันมาใช้ถนนในการสัญจรแทนที่การใช้แม่น้ำ ทำให้ย่านต่างๆ ที่เรียงรายอยู่ตามถนนเจริญกรุงนั้น ค่อยๆ พัฒนาเป็นย่านการค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เฟื่องฟูมากของเมือง เพราะความเจริญใหม่ๆ ต่างทยอยขยับขึ้นมาเปิดกิจการและสำนักงานขนาบถนนเจริญกรุงเป็นจำนวนมาก หลังจากที่เคยกระจุกตัวกันอยู่แค่เพียงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่5 มีการตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 110สาย และเปิดกิจการเดินรถรางเป็นประเทศแรกในเอเซียทั้งแบบม้าลากในปี พ.ศ. 2430 ต่อมาเปลี่ยนเป็นแบบไฟฟ้าเมื่อปี พ.ศ.2437 จนถึง พ.ศ. 2511 จึงได้หยุดการเดินรถไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่าถนนเจริญกรุงนั้นมีบทบาทร่วมไปกับการเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานครเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มเปิดใช้งาน

เจริญกรุง ในวันที่โตตามเมืองไม่ทัน

ถนนเจริญกรุงนั้นเติบโตไปพร้อมกับเมืองเรื่อยมาตั้งแต่สมัยที่ถนนยังใช้เพียงโคมไฟจากตะเกียงเพราะยังไม่มีไฟฟ้า พื้นถนนเป็นหลุมเป็นบ่อจากฝนและม้าวิ่ง จนต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นโคมไฟฟ้า มีรถรางใช้ มีถนนที่เรียบจนรถจักรยานยนต์และรถยนต์วิ่งกันเต็มถนน ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยนี้ก็คงมีความทันสมัยคล้ายถนนสีลมหรือสุขุมวิทในปัจจุบัน ตั้งแต่ช่วงหลังปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ทำให้กรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางการปกครองได้พัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ส่งผลให้เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมกับแหล่งงานที่มากขึ้น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว จาก 2 ล้านคน(พ.ศ. 2503) เป็น 4 ล้านคนใน 20 ปี และ 6 ล้านคน ใน 40 ปี  (อ้างอิง: กรุงเทพมหานคร:เมืองโตเดี่ยวตลอดกาลของประเทศไทย;กาญจนา ตั้งชลทิพย์)ทำให้ศูนย์กลางของเมืองเริ่มขยับออกไปย่านอื่นๆ ที่มีความกว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากย่านเจริญกรุงนั้นแทบจะถูกจับจองไปทุกตารางนิ้ว ทำให้ยากต่อการขยายตัว ประกอบกับย่านใหม่ๆ นั้นเอื้อต่อการพัฒนาสาธารณูปโภคมากกว่า ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และการคมนาคมขนส่งทางบก ทิศทางการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้นจึงเติบโตตามชายขอบถนน (Ribbon Development) ที่ตัดใหม่เป็นจำนวนมากและกระจายการเติบโตของเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตามแนวถนนต่างๆศูนย์กลางเมืองจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ถนนเจริญกรุงอีกต่อไป

การเพิ่มถนนอีกเป็นจำนวนมากของกรุงเทพฯ ส่งผลให้การขนส่งทางน้ำและการตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำในย่านถนนเจริญกรุงไม่เป็นที่นิยมเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากพื้นที่ริมน้ำบริเวณถนนเจริญกรุงนั้นมีความหนาแน่นสูงและยากที่จะขยับขยาย ประกอบกับผู้คนใช้รถยนต์มากขึ้นจึงต้องการความสะดวกสบายที่ตอบสนองวิถีชีวิตตามไปด้วย ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของประชากรและการขยับขยายย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมไปยังทำเลใกล้เคียงที่รองรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ดีขึ้น เช่น สีลม สาทร ปทุมวันเพราะถนนในย่านเจริญกรุงนั้นมีขนาดเล็กและเดินรถทางเดียวในหลายบริเวณ นอกจากนี้ อาคารในย่านเจริญกรุงล้วนถูกออกแบบเป็นตึกแถว (Shophouse) ขนาดเล็กที่ใช้ระบบโครงสร้างแบบเก่า คือ ผนังรับน้ำหนัก เป็นอาคารพาณิชย์สูงเพียง2-3 ชั้น และไม่มีที่จอดรถ นอกจากนี้ ระบบขนส่งมวลชนในแนวถนนเจริญกรุงนั้นมีทางเลือกไม่มากนัก นับตั้งแต่รถรางได้หยุดให้บริการไปเมื่อปี พ.ศ. 2511 เนื่องจากต้องใช้ถนนหนึ่งเลนสำหรับเดินรถและมีต้นทุนที่สูงกว่ารถเมล์จึงเหลือเพียงแต่รถเมล์และเรือด่วนเจ้าพระยาเท่านั้น ปัจจุบัน ผู้คนจึงรู้สึกไม่สะดวกและหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางเข้ามาในย่านนี้โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วน เนื่องจากถนนสายนี้เต็มไปด้วยโรงเรียนขนาดใหญ่หลายแห่ง ในแต่ละวันจึงมีผู้ปกครองจำนวนมากต้องเดินทางมารับ-ส่งบุตรหลานอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การจราจรในช่วงเช้าและเย็นนั้นติดขัดเป็นอย่างมาก

ในขณะที่ย่านรอบๆ กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ย่านถนนเจริญกรุงนั้นกลับไม่ค่อยมีการพัฒนาใหม่ๆ ในช่วงเวลาหลายสิบปีมานี้จากสองปัจจัย ปัจจัยประการแรก คือ กลไกการถือครองที่ดินภายในย่าน โดยในสมัยเริ่มสร้างถนน ที่ดินสองข้างทางมักจะเป็นของรัฐหรือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ (Land Lord) ดังนั้น ผู้ที่อาศัยและเปิดกิจการอยู่ตามถนนเจริญกรุงมักจะเป็นผู้เช่าชาวต่างชาติ เช่น ชาวจีนหรือฝรั่งซึ่งไม่สามารถถือครองที่ดินได้ตามกฎหมาย นอกเสียจากว่าจะมีสัญชาติไทย ต่อมา เมื่อถนนเจริญกรุงเริ่มเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเริ่มมีการขายที่ดินของเอกชนบางแปลงออกไปในลักษณะของการจัดสรรที่ดินแล้วสร้างเป็นอาคารพาณิชย์แบ่งขาย การถือครองที่ดินเริ่มเปลี่ยนกรรมสิทธิ์จากเอกชนรายใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินรายย่อยมากขึ้น ส่งผลให้ที่ดินในปัจจุบันนั้นยากต่อการพัฒนาทั้งในรูปแบบของการรวมแปลงที่ดินระหว่างเจ้าของที่เป็นภาคเอกชนเพื่อจัดรูปที่ดินใหม่ หรือแม้แต่การซ่อมแซมอาคารพาณิชย์ที่ใช้โครงสร้างร่วมกันเพราะจำเป็นต้องใช้กระบวนการเจรจากันระหว่างเจ้าของอาคารหลายราย ส่วนในกลุ่มผู้เช่าอาคาร การเปลี่ยนแปลงอาคารนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับเจ้าของที่ดิน ปัจจัยที่สอง คือ ผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารที่ไม่เอื้อต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารในย่านก่าของเมืองเท่าใดนัก เช่น อาคารตึกแถวริมถนนเจริญกรุงที่มีขนาดเล็กนั้นไม่สามารถปรับปรุงอะไรได้มากนักตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นต้นมาซึ่งกำหนดให้การรื้อและสร้างอาคารใหม่ไปได้ยากขึ้นจากการกำหนดระยะถอยร่นระหว่างอาคารและทางสาธารณะ และเมื่อรวมสองปัจจัยนี้เข้าด้วยกันจะพบว่าทำเลที่ดินย่านถนนเจริญกรุงนั้นมีราคาแพง แต่ไม่สามารถพัฒนาอะไรได้มากนัก ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในย่านขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ ผู้คนรุ่นใหม่ๆ จึงทยอยย้ายออกจากย่านไปโดยทิ้งอาคารเหล่านี้ไว้ คงเหลือแต่เพียงชุมชนดั้งเดิมที่มีความผูกพันกับพื้นที่ และกลุ่มธุรกิจเก่าแก่ของชาวจีนที่ต้องการรักษาประวัติศาสตร์และรากฐานขององค์กรไว้ตามความเชื่อเท่านั้น

รถไฟฟ้ากับแรงจูงใจในการพัฒนาที่ดิน

            หลังจากรถรางไฟฟ้าบนถนนเจริญกรุงหยุดทำการไปได้51ปี ในปี พ.ศ. 2562 นี้ ถนนเจริญกรุงจะมีสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าใต้ดิน(MRT) สายสีน้ำเงินถึง 2 สถานี ได้แก่ สถานีสามยอด ที่ย่านวังบูรพา และ สถานีวัดมังกรกมลาวาส บริเวณใจกลางย่านไชน่าทาวน์ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้จะเป็นสายหลักที่เดินรถเป็นวงกลม โดยมีหลายสถานีที่สามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังสายอื่นๆ เพื่อไปยังพื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ทำให้การเดินทางมายังย่านไชน่าทาวน์นั้นสะดวกขึ้นเป็นอย่างมาก 

ที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้านั้นส่งผลโดยตรงต่อราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมๆ กับแรงจูงใจในการพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะในรัศมี 500 เมตร รอบสถานี ตามข้อกำหนดของผังเมืองรวมฉบับปี พ.ศ. 2556 ซึ่งปรับเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ก่อสร้างต่อพื้นที่ดิน (FAR: Floor Area Ratio) ทำให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ทำเลที่ยังไม่ได้พัฒนา สามารถนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพมากขึ้น แต่สำหรับย่านเมืองเก่านั้น แม้ว่าอาจช่วยฟื้นฟูย่านที่ซบเซาให้ดีขึ้นได้ แต่ในเวลาเดียวกันอาจเป็นการทำลายย่านด้วยกลไกของราคาที่ดินและการลงทุนโดยไม่คำถึงถึงมรดกวัฒนธรรมและชุมชนในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น เขตสัมพันธวงศ์เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม (พ.3)อนุญาตให้มี FAR ได้ไม่เกิน 7 เท่า (FAR 7:1) แต่หากพื้นที่นั้นอยู่ในรัศมี 500เมตร รอบสถานีรถไฟฟ้า จะได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 20%หมายความว่า หากมีที่ดินแปลงหนึ่งขนาด 1 ไร่ หรือ1,600 ตารางเมตร ในเขตสัมพันธวงศ์ เจ้าของที่ดินสามารถสร้างอาคารขนาดพื้นที่ใช้สอยได้ไม่เกิน 11,200 ตารางเมตร  (คิดเป็น 7 เท่าของพื้นที่ดิน) แต่หากอยู่ในระยะรัศมี 500 เมตรรอบสถานี จะสามารถสร้างอาคารได้ใหญ่มากขึ้นเป็น 13,440 ตารางเมตร ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาควบคู่กับพระราชบัญญัติควบคุมอาคารว่ามีข้อกำหนดของการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในประเด็นใดหรือไม่ เช่น ระยะถอยร่น ความสูงอาคาร หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบขอบเขตสูงสุดของการพัฒนาที่ดินในแต่ละแปลง เขตสัมพันธวงศ์เกือบทั้งหมดอยู่ในรัศมี 500 เมตร ของการพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 3 สถานี ทำให้มรดกวัฒนธรรมในย่านเก่าแห่งนี้ ทั้งอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และชุมชนผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมที่มีความรู้ ภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นย่านจีนดั้งเดิมของกรุงเทพฯ  เริ่มตกอยู่ในความเสี่ยง หากไม่ถูกคิดให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต 

อาคารทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าวัดมังกรกมลาวาสบนถนนเจริญกรุงซึ่งตั้งอยู่ใจกลางย่านไชน่าทาวน์

มีอะไรใหม่ในเจริญกรุง ?ในยุคปัจจุบันที่หลายคนนิยามว่าเป็นยุคดิจิตอลนั้น ความโหยหาอดีต (Nostalgia) ได้กลับมาเพื่อเติมเต็มความรู้สึกบางอย่างที่ขาดหายไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม แฟชั่น หรืองานออกแบบที่ปรากฏในวิถีชีวิตของคนจนเริ่มเป็นกระแสที่สำคัญของยุคนี้ถนนเจริญกรุงเริ่มกลับมาสร้างเสน่ห์ให้กับย่านเมืองเก่าที่เริ่มจะซบเซาลงให้กลับขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เช่น วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อาคารตามแนวถนนเจริญกรุง โดยเฉพาะตามหัวมุมแยกถนนที่สำคัญซึ่งถูกออกแบบให้เด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ได้รับการปรับปรุงดูแลตามสมัยนั้น กลายเป็นกลุ่มอาคารเก่าที่ถูกรักษาไว้โดยบังเอิญและมีคุณค่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ที่สะท้อนความเป็นย่านเก่า และบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของถนนเจริญกรุงได้เป็นอย่างดี อาคารเก่าเหล่านี้ได้ถูกนำมาปรับปรุงในแนวทางที่สร้างสรรค์ ทั้งในด้านการปรับโฉมธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้ร่วมสมัยขึ้น หรือนำมาสร้างกิจกรรมใหม่ๆ เช่น พื้นที่ทางด้านศิลปะจำพวกสตูดิโอ แกลเลอรี่ และร้านรวงสมัยใหม่จำพวกคาเฟ่ต่างๆ ที่อาศัยความเก่าแก่ของสถานที่มาเป็นต้นทุนที่สำคัญ

อาคารเก่าห้องหัวมุมบนถนนเจริญกรุงที่มักจะเต็มไปด้วยรายละเอียดที่สวยงาม
อาคารเก่าบนถนนเจริญกรุงย่านบางรักบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าBTSสะพานตากสินซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนและเป็นที่ตั้งของกิจการเก่าแก่มากมาย

กลุ่มศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของย่านด้วยการเข้ามาอาศัยพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานมากว่า4-5ปี แล้ว แต่การย้ายสำนักงานใหญ่ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)จากย่านสุขุมวิทมาตั้งอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลางริมถนนเจริญกรุงย่านบางรักนับเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะการมาของ TCDC นั้น ไม่ได้มาแค่สถานที่ แต่มาพร้อมกับเจตนาที่ต้องการฟื้นฟูย่านไปพร้อมๆ กับการสร้างบรรยากาศของความเป็นย่านสร้างสรรค์ที่อาศัยความร่วมไม้ร่วมมือกับภาคีหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ในเบื้องต้นได้เริ่มโครงการ Co-Create เจริญกรุง และเทศกาลBangkok Design week ไปแล้วในปีที่ผ่านมา ซึ่ง TCDCได้วางขอบเขตพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ไว้บนถนนเจริญกรุงตั้งแต่ย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ไปจนถึงบริเวณสะพานตากสิน เขตบางรัก โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อาคารไปรษณีย์กลางซึ่งเป็นที่ตั้งของTCDCในการรับรู้ของผู้คน ณ เวลานี้ ถนนเจริญกรุงเริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อชมงานศิลปะ และเรียนรู้วิถีชีวิต สังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองผ่านผู้คน ชุมชน และอาคารสถานที่แบบดั้งเดิมที่สร้างเสน่ห์ให้กับพื้นที่ในย่านนี้อย่างมากมาย จนเปรียบเสมือนสตูดิโอขนาดใหญ่ที่มีทั้งนักถ่ายภาพและนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายรูปเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยให้ความสนใจกับตรอกซอย บ้านเรือน ชุมชน และผู้คนที่ล้วนแต่เป็นของจริงที่มีความสวยงามตามธรรมชาติสิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างแรงดึงดูดให้สังคมเริ่มหันมาสนใจถนนเจริญกรุงอีกครั้งผ่านประสบการณ์ตรง และสื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังมีบทบาทอย่างมากในสังคมยุคนี้

อาคารไปรษณีย์กลางบางรักซึ่งเป็นที่ตั้งของTCDC และศูนย์กลางของย่าน Creative District

กลับมาได้ไหม…เจริญกรุง ?

แม้ว่าถนนเจริญกรุงจะเป็นถนนเก่าแก่เส้นแรกของประเทศไทยที่มีอายุร่วม 150 ปีแล้ว แต่ยังคงไว้ซึ่งเรื่องราวของผู้คน ความทรงจำ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ผสมผสานทั้งความเก่าและใหม่เอาไว้ได้อย่างลงตัว สิ่งที่โดดเด่นคือความเป็นย่านเก่าริมน้ำที่เปลี่ยนตัวเองจากศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองสู่บทบาทใหม่ทางด้านการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศิลปะ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒธรรมของกรุงเทพฯ ประกอบกับย่านเจริญกรุงนั้นมีความหลากหลายด้านการใช้งานพื้นที่จากคนหลายกลุ่มที่ความต้องการสัมผัสพื้นที่ในรูปแบบที่แตกต่างกันมากขึ้น เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ไม่ได้ต้องการเพียงแค่มาจับจ่ายใช้สอยหรือพักผ่อนริมแม่น้ำตามโรงแรมห้าดาวเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น แต่ต้องการเรียนรู้และเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตถึงในชุมชน ตลาด วัด ศาลเจ้า โบสถ์ มัสยิดที่ตั้งอยู่รอบๆ ถนนเจริญกรุง โดยจุดเด่นจะอยู่ที่ร้านอาหารและสินค้าดั้งเดิมที่เปิดกิจการมาหลายชั่วอายุคน รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ ที่นำต้นทุนความเก่าแก่ของพื้นที่มานำเสนอได้อย่างลงตัวก็ร่วมกันสร้างแรงดึงดูดให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างดีดังนั้น เราจะพบได้ว่าถนนเจริญกรุงเส้นเดิมกำลังมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ในหลายบริเวณ จากแรงกระตุ้นของกระแสการพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้า การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ และความโหยหาอดีตของคนเมือง ส่งผลให้ถนนเจริญกรุงกำลังจะกลับมาในบทบาทใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังคงลักษณะเฉพาะตัว (Character) ของความเป็นศูนย์กลางเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และความเป็นต้นกำเนิดของหลายสิ่งไว้ได้อย่างลงตัว ซึ่งความท้าทายของการพัฒนาพื้นที่นี้จะอยู่ที่การกำหนดวิสัยทัศน์และปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาและฟื้นฟูย่านเก่าของเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว เพื่อรักษาต้นทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่อันประกอบด้วยประวัติศาสตร์และผู้คนดั้งเดิมเป็นสำคัญ

โครงการ Warehouse 30 ในย่านสี่พระยาที่นำโกดังกลับมาใช้ประโยชน์เป็นCreative Community Complex

คอลัมน์ เรื่องจากปก
วารสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 1 ปี 2562
ผู้เขียน : จุฤทธิ์ กังวานภูมิ