แผงลอย : ศักยภาพและความท้าทายในการจัดการ

ผู้เขียน : นฤมล  นิราทร

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจลามไปทั่วโลก การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศรวมถึงการท่องเที่ยวชะงัก เมื่อปัญหาการว่างงานซึ่งเป็นปัญหาเศรษฐกิจอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมและวิกฤตสังคมในระยะยาว ในช่วงเวลานี้การสร้างงานสร้างอาชีพจึงมีความสำคัญ จีนเป็นประเทศหนึ่งที่หันกลับมาสนับสนุนให้การค้าขนาดเล็กคือหาบเร่แผงลอยเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เนื่องจากตระหนักดีถึงศักยภาพของหาบเร่แผงลอยในการสร้างงานสร้างอาชีพ  นโยบายนี้เหมาะกับประเทศซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคที่ไม่เป็นทางการและมีบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่สนับสนุน   

“แผงลอย”
เป็นการประกอบการธุรกิจในที่สาธารณะ เช่น ทางเท้าในถนนสายหลัก สายรอง ในชุมชน หรือ ในย่านต่าง ๆ
เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่เราคุ้นเคย มีบทบาททั้งในด้านแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างผู้ประกอบการ
และเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

แรงงานที่มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างรายได้จากอาชีพนี้ ในอีกด้านหนึ่งประชาชนที่มีรายได้ไม่มากก็สามารถดำรงชีวิตด้วยสินค้าราคาไม่แพงโดยเฉพาะอาหารจากแผงลอย นอกจากมิติเศรษฐกิจ แผงลอยยังมีมิติทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างบูรณาการ ก็จะทำให้เข้าใจถึงศักยภาพของแผงลอยควบคู่ไปกับความท้าทายในการจัดการ และ การพัฒนาเพื่อให้แผงลอยมีบทบาททั้งในการประกอบการระดับบุคคล กลุ่ม และ ย่านและการเชื่อมต่อกับการพัฒนาของเมือง ท่ามกลางความจำกัดของพื้นที่สาธารณะรวมถึงการใช้ประโยชน์ร่วม และจำนวนผู้ค้าซึ่งเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่องและในหลายส่วนขาดความรับผิดชอบ ปัญหาธรรมาภิบาล  จนก่อให้เกิดความขัดแย้งจากอุปสรรคในการสัญจร และ ทัศนะต่อความเป็นระเบียบของเมือง

ความหลากหลายของพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้แผงลอยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แม้จะอยู่ในเขตเดียวกัน  ความแตกต่างนี้ปรากฏทั้งในด้านประเภท ราคา คุณภาพ ของสินค้า ความหนาแน่นของผู้ค้า คุณลักษณะของผู้ค้า รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของการค้าแผงลอย ความแตกต่างเหล่านี้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ คุณลักษณะของผู้ซื้อ และการบริหารจัดการ ในเขตสัมพันธวงศ์ซึ่งมีขนาดพื้นที่เล็กที่สุด มีย่านการค้าแผงลอยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่อาจจะสูงที่สุด คือ ถนนเยาวราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ และเป็นย่านพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในยามค่ำคืน ในช่วงเวลาระหว่างวัน ถนนเยาวราชมีแผงลอยรายเล็ก รายน้อย กระจายตัวอยู่ทั่วไปทั้งบนทางเท้า ในชุมชน และซอยซึ่งเชื่อมต่อระหว่างถนนเยาวราชและถนนสายอื่น ๆ ในย่านอื่น ๆ เช่น ตลาดน้อย และ จักรวรรดิ การปรากฏตัวของแผงลอยก็มีลักษณะเดียวกัน หากพิจารณาจากมิติเศรษฐกิจและการมีงานทำก็จะพบว่า แผงลอยเหล่านี้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจทั้งในลักษณะของการเป็นแผงลอยอิสระ และ การเป็นส่วนหนึ่งของการค้าแผงลอยในย่าน ซึ่งสินค้าที่ขายมีความเชื่อมต่อทั้งในเชิงสนับสนุนและแข่งขันกัน ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่แห่งหนึ่งซึ่งเชื่อมต่อระหว่างถนนสองสาย มีแผงลอยขายก๋วยเตี๋ยว ข้าวเหนียวหมูปิ้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารตามสั่ง น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ กาแฟโอวัลติน น้ำส้ม ในบริเวณเดียวกัน อาหารแต่ละชนิดอาจมีผู้ขายมากกว่าหนึ่งเจ้า เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของผู้สัญจร 

ความหลากหลายและความเอื้ออำนวยของพื้นที่ ทำให้เกิดเป็นย่านที่มีอาหารทั้งสามมื้อ ตอบโจทย์ทั้งแรงงาน
ผู้ประกอบการในพื้นที่ชุมชน และผู้สัญจร รวมทั้งนักท่องเที่ยว นี่ละมังคือเสน่ห์ของ Street Food ที่เป็นธรรมชาติ
มีที่มาจากความต้องการของคนในพื้นที่มิใช่การจัดตั้ง การก่อเกิดโดยธรรมชาตินี้เองที่เป็นที่มาของความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน และต้องการการจัดการที่มีความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับลักษณะพิเศษของย่าน 
แต่ก็พร้อมปรับตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง  

มิติเศรษฐกิจของแผงลอยเชื่อมโยงกับมิติสังคม วัฒนธรรม การเมืองและ สิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างมิติต่าง ๆเหล่านี้มีนัยต่อการประกอบการ การบริหารจัดการโดยเฉพาะในเชิงพื้นที่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้าด้วยกัน และระหว่างผู้ค้ากับผู้ซื้อแม้บางครั้งจะไม่ได้ราบรื่นเสมอไป แต่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติ อบอุ่นและมีพลัง ในขณะที่การซื้อขายสินค้าริมทางและการบริโภคในที่สาธารณะ หรือ Public Eating เป็นวัฒนธรรมที่มีมาช้านาน และไม่ได้สะท้อนถึง “ความมักง่าย”เสมอไป แต่เป็นวิถีปฏิบัติที่มีฐานจากหลักเหตุผลและความประหยัด โดยเฉพาะในเรื่องเวลา ในมิติการเมือง เราไม่อาจปฏิเสธความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ค้าแผงลอย นักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้ง “มือที่มองไม่เห็น” ซึ่งส่งผลถึงการตัดสินใจทางการเมือง การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น และโอกาสในการประกอบอาชีพ ในด้านสิ่งแวดล้อม หาบเร่แผงลอยมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ ทั้งในด้านการจัดการขยะและน้ำเสีย หากจัดการอย่างเหมาะสมและมีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน มิติต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นระบบนิเวศของการค้าแผงลอยทั้งบนทางเท้าและในระดับย่าน 

การค้าแผงลอยจึงต้องการการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากกว่าการจัดการหรือจัดระเบียบในเชิงพื้นที่ 
แต่ต้องมีการจัดการที่คำนึงถึงมิติที่หลากหลายทั้งในแนวราบและแนวตั้ง รวมถึงการพัฒนาต่อยอดเพื่อสนับสนุน
การมีงานทำ การจ้างงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 
การบริหารจัดการการค้าแผงลอยจึงไม่ควรเป็นบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น
แต่หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งผู้ค้าแผงลอยเองควรเข้ามามีบทบาทในการร่วมบริหารจัดการ และโดยเฉพาะในสถานการณ์การลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลจากโรคระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

มูลค่าของเศรษฐกิจของหาบเร่แผงลอยเชื่อมโยงจากสินค้าบนแผงไปถึงห่วงโซ่มูลค่าคือแหล่งวัตถุดิบคือตลาด ผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และผู้ซื้อ รวมถึงแรงงานในที่เกี่ยวข้องในการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่รับจ้างเข็นของในตลาด ผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ มีตัวอย่างของผู้ค้าแผงลอยก๋วยเตี๋ยวในเขตห้วยขวางที่ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงซื้ออาหารสดจากผู้ค้าในตลาดคลองเตยมากกว่าสิบเจ้า และ โรงงานลูกชิ้นขนาดเล็กในเขตปทุมวัน มูลค่าการซื้อประมาณสี่พันบาท 

หากพิจารณาจากการประกอบการ มูลค่าทางเศรษฐกิจของการค้าแผงลอยพิจารณาได้จากการลงทุนเฉลี่ยและรายได้ในแต่ละวัน การศึกษาในปี 2560 พบว่า การลงทุนเฉลี่ยของผู้ค้าในเขตสัมพันธวงศ์ เฉพาะที่ขายในช่วงกลางวัน ตกประมาณ 2,700 บาท กำไรเฉลี่ยต่อวันประมาณ 1,100 บาท ส่วนการคำนวณรายได้รวมจากแผงลอยทั้งกรุงเทพมหานครนั้น งานศึกษาของวุฒิสภาในปี 2562 คำนวณจากผลคูณของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการประกอบการในแต่ละวันกับจำนวนเดือนในแต่ละปีและจำนวนวันในแต่ละเดือนและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากสมมติให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นแต่ละวันของผู้ค้าแต่ละรายเป็น 1,000 บาท ผู้ค้าทำงาน 12 เดือน ๆ ละ 20 วัน ในแต่ละปีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จึงเท่ากับ 240,000 บาท และหากรายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 ก็เท่ากับมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 158,400 บาท คิดเป็นรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 398,400 บาทต่อปีสำหรับผู้ค้าแต่ละแผง[1]  (ณัติกาญจน์, 2562) นอกจากมูลค่าทางเศรษฐกิจข้างต้น การค้าแผงลอยมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างผู้ประกอบการระดับต่าง ๆ  ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจำนวนไม่น้อยสามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ ก้าวพ้นจากความยากจน  และขยายการประกอบการได้   

รัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนการค้าขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน สนับสนุนการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากและความเป็นอยู่ของประชาชน    ความชัดเจนปรากฏทั้งในนโยบายเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  และนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคม 2562 อย่างไรการนำนโยบายไปปฏิบัติยังเผชิญอุปสรรคหลายด้าน และต้องการร่วมมือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  รวมทั้งผู้ค้าเองด้วย         

เอกสารอ้างอิง 

ณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร. (2562). “หาบเร่แผงลอยกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ”  ใน รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องข้อเสนอเชิงนโยบาย การบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ชีวิต และชุมชน. คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา.


[1]คำนวณตามแนวทางจากเอกสารของวุฒิสภา (2562)