ธุรกิจใหม่ในย่านเก่า

คุณแอน ภรณ์พัทธ์ สหเจริญวัฒน์ และ (ขวา) คุณแก้ม ดาลี ฮุนตระกูล 2 ใน 3 ของผู้ร่วมก่อตั้ง URBY

การมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในย่านเยาวราชที่กำลังจะเปิดให้บริการภายในปี2562สร้างความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ขยับตัวเพื่อตอบรับกับการพัฒนาเมืองของภาครัฐ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะนำพานักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเข้าสู่พื้นที่ย่านเยาวราชได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โอกาสการพัฒนานี้ ทำให้อาคารเก่าหลายแห่งถูกนำมาปัดฝุ่นและปรับใช้เพื่อทำธุรกิจต่างๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเจ้าของพื้นที่ การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่โดยเฉพาะที่พักอาศัยในรูปแบบโฮสเทล เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมและมีจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ห้องพักขนาดเล็กราคาย่อมเยาแทรกตัวอยู่ตามตรอกซอยเล็กในย่านชุมชน ตอบโจทย์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบบรรยากาศเมืองเก่า ได้สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คน  อีกทั้งเดินทางสะดวกด้วยทำเลใจกลางเมือง มีตัวเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย และอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ 

วันนี้ ผู้เขียนจะพาทุกท่านไปพูดคุยกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มองเห็นโอกาสและศักยภาพของพื้นที่ นำมาเป็นต้นทุนในการพัฒนาธุรกิจใหม่ในย่านเก่าอย่าง URBYโฮสเทลย่านทรงวาด

URBYจากตึกห้องเย็นแห่งแรกของกรุงเทพมหานครสู่การเป็นโฮสเทลดีไซน์เรียบง่ายย่านทรงวาด เปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นปี 2561เกิดจากการรวมตัวของนักผังเมือง3 คน คือ คุณแอน ภรณ์พัทธ์ สหเจริญวัฒน์, คุณแก้ม ดาลี ฮุนตระกูล และ คุณเบส ปุญพิชชา เตชคุณวุฒิ

URBY คืออะไร

แก้ม: URBY เป็นคำแสลงจากคำว่า URBAN ปรับคำให้ดูสนุกขึ้น เริ่มมาจากเรา 3 คน ที่เรียน Urban Design (การออกแบบชุมชนเมือง) เวลาทำโปรเจ็ค เราจะมองหาว่าจุดไหนที่เป็นจุดเด่นของย่าน หรือทำอย่างไรให้ย่านนั้นมีชีวิตขึ้นมา หรือเราสามารถที่จะดีไซน์อะไรเข้าไปได้บ้าง ไม่ได้พยายามจะใส่ Theme อะไรเข้าไป แต่ทำให้กลมกลืน อย่างการออกแบบของโฮสเทลเราก็จะทำแบบเรียบๆ เพื่อไม่ให้ฉูดฉาดมาก ให้อารมณ์แบบห้องนั่งเล่น เป็นจุดที่คนในย่านมารวมกันได้

ทำไมถึงเลือกทรงวาด

แอน: ทรงวาดเป็นพื้นที่ที่เราทั้ง 3 คนรู้จักกันอยู่แล้วจากการเรียนผังเมือง ในสตูดิโอเรียนเราจะต้องไปสำรวจย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทรงวาดเป็นพื้นที่หนึ่งที่เราชอบ เรามองว่าย่านมีความน่ารัก ตั้งอยู่ข้างเยาวราชที่มีความวุ่นวายมาก ทุกอย่างดูรีบเร่งไปหมด คนเยอะทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ในขณะที่พอข้ามมานิดนึงเป็นเส้นถนนทรงวาด เป็นเส้นที่สงบกว่าเยาวราชและอยู่ติดริมน้ำด้วย ซึ่งในกรุงเทพฯ หาพื้นที่ที่เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ค่อนข้างยาก

แก้ม: พื้นที่ทรงวาดทั้งเส้นเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาโดยที่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตรงนี้ติดแม่น้ำ ซึ่งพอเราทำตรงนี้ก็เหมือนทำให้แปลกใจดีว่าพอเปิดมาแล้วเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ด้านหลัง ตอนแรกที่เรามาดู ตรงนี้เป็นโกดังเก็บของปิดทึบหมด คือเราเชื่อว่าถ้าเปิดแล้วมันจะสวย แล้วมันก็สวยจริงๆ  เพราะเราได้จังหวะที่เป็นโค้งน้ำพอดี พอมองกลับไปมุมมองจะกว้างกว่าที่จะมองเห็นแค่ด้านตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยา

แอน: เราไม่ได้มองแค่ตึกนี้ตึกเดียวที่ว่าเป็นตึกอยู่ริมน้ำ แต่ด้วยความที่ย่านทรงวาดทั้งเส้นมันมีชีวิตชีวา มีความน่ารัก มีบริบทของพื้นที่ที่สวยงามอย่างตึกผลไม้ที่อยู่ตรงข้าม คือเรารู้สึกว่าย่านมันน่ารัก อย่างที่บอกว่าพวกเราสามคนเป็นนักผังเมือง คือเราไม่ได้มองแค่ตึกนี้ตึกเดียว แต่เรามองว่าตึกนี้ ย่านนี้มันน่ารัก

โจทย์ในการทำโฮสเทลเกิดขึ้นจากอะไร

แอน: เราอยากทำโฮสเทลด้วยกัน 3 คนก่อน ตอนแรกเรามองหาย่านที่ใกล้รถไฟฟ้า เข้าถึงง่าย เราก็ไปดูหลายที่ ซึ่งเราก็รู้สึกว่าหลายๆ ที่ก็ยังไม่ใช่ พอมาเจอที่ตึกนี้ก็รู้สึกว่า เออ มันใช่แล้ว ก็เลยมาทำ

ตึกนี้เคยเป็นอะไรมาก่อน

แอน: ตึกนี้เป็นห้องเย็นห้องแรกของกรุงเทพฯ แต่ว่าตอนที่เรามาเห็นคือเป็นโกดัง ตอนนี้ก็ยังใช้เป็นห้องเย็นอยู่ในส่วนชั้นล่าง ชั้นบนเป็นโกดังเก็บของทั่วไป แล้วปล่อยเช่าในส่วนข้างบน คือตอนที่เรามา ทางเดินที่ขึ้นมาตอนนั้น ข้างล่างก็ยังปิด เราต้องไปเดินขึ้นด้านหลัง เราก็มองว่ามันเป็นอาคารที่แปลกดี ปกติที่อื่นก็จะเป็นแบบห้องนึงมีหลายชั้น เดินขึ้นชั้น 1 2 3 4 แต่ที่นี่คือทุกอย่างรวมอยู่ในชั้นเดียวข้างบนทั้งหมด พื้นที่มีความโปร่งโล่ง อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบคือพอเป็นโกดังเก่า ระยะจากพื้นถึงเพดานสูงมาก ประมาณ 4 เมตรกว่า ทำให้ทุกอย่างดูโปร่ง

แก้ม: ส่วนการออกแบบ เราอยากให้มันเรียบๆ ไม่หวือหวามาก เพราะอยู่ไปมันจะเบื่อ เราอยากให้มันอยู่ไปได้เรื่อยๆ อารมณ์เหมือนห้องนั่งเล่น เหมือนอพาร์ทเมนท์สวยๆ แดดเข้า แสงเข้า โปร่ง สบาย คือเราอยากให้มันกลางๆ เหมือนเราอยู่ได้ทุกวัน ไม่เบื่อ

ห้องเย็นแห่งแรกของกรุงเทพมหานครที่ยังคงเปิดกิจการอยู่ถึงปัจจุบันไปพร้อมกับกิจกรรมใหม่อย่างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวและร้านกาแฟได้อย่างลงตัว

ผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างไรบ้าง

แอน: ดีค่ะ เรื่อยๆ คนเข้าใจในส่วนของการออกแบบว่าเราอยากให้มันเรียบๆ แบบห้องนั่งเล่น ซึ่งคนก็จะมองว่าเขามาที่นี่คือมาเพื่อพักผ่อน แขกที่อยู่ที่นี่ก็จะเป็นแขกที่มาแล้วใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เลย บางคนคือเป็นแขกประจำ คือเป็นที่ประจำเวลาที่เขาต้องมากรุงเทพฯ บางทีก็อยู่ 2-3 อาทิตย์เลยก็มี

แล้วผลตอบรับจากเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร

แอน: ลูกค้าโฮสเทลของเราจะเป็นชาวต่างชาติ ที่เราเลือกสร้างโฮสเทลตรงนี้เพราะเป็นเส้นที่ติดกับสำเพ็งและเยาวราชที่เป็นย่านการค้าขาย รถยังวิ่งผ่านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราทำโฮสเทลที่เป็นกิจการใหม่ขึ้นมาในย่าน แต่เป็นกิจการที่ไม่รบกวนกับคนมากเนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่ได้มาด้วยรถส่วนตัว แต่จะมาด้วยขนส่งสาธารณะ เพราะฉะนั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องที่จอดรถ ส่วนในแง่ของการค้าขาย นักท่องเที่ยวก็เข้าไปซื้อของจากร้านค้าแถวนี้อย่างย่านเยาวราชบ้าง ทรงวาดบ้าง หรือถ้าแขกคนไทยหรือแขกต่างชาติบางคนก็จะมาซื้อของที่สำเพ็งบ้าง จะไม่ได้กระทบกับคนภายนอกมากเท่าไหร่

แก้ม: เรามีร้านกาแฟริมน้ำด้วย ส่วนมากจะเป็นคนในย่านที่มาร้านกาแฟด้านบน อย่างตำรวจที่มาลาดตระเวนก็จะขึ้นมานั่งพักผ่อน คือเป็นห้องนั่งเล่นใหม่ของแถวนี้ด้วย เพราะทั้งเส้นนี้ไม่มีตรงไหนที่เข้าถึงริมน้ำได้เลยในแง่ของการเป็นพื้นที่สาธารณะ ตรงนี้ก็เป็นจุดเปิดให้คนย่านนี้ขึ้นมาตรงริมน้ำได้

ในมุมมองของนักผังเมือง ย่านนี้ควรถูกพัฒนาในเรื่องใด

แก้ม: ทรงวาดเป็นที่ที่คนไม่ค่อยรู้จักเลย คนกรุงเทพฯ เอง หรือเพื่อนเราเอง เวลาพูดถึงทรงวาด คนก็จะเงียบ แต่พอบอกเยาวราชก็จะอ๋อ หรือถ้าบอกว่าเส้นหลังเยาวราชก็ยังจะมีงงอยู่ เหมือนเป็นเส้นที่ค่อนข้างใหม่ จะเห็นว่ามีร้านกาแฟที่มาก่อนอย่าง pieces มาเร่ิมกิจการ คนก็รู้จักมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยมาก เลยคิดว่าถ้าอยากให้ย่านนี้เป็นที่รู้จักของคนในกรุงเทพฯ หรือคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าเขารู้จักอยู่แล้ว แต่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักเส้นนี้ คือถ้ามีร้านเล็กๆ แทรกตัวอยู่เรื่อยๆ ก็คงทำให้ย่านคึกครื้นขึ้น ในแง่ว่าดึงคนส่วนนึงของกรุงเทพฯ มาโซนนี้ด้วย เพราะหลักๆ โซนนี้จะเป็นการค้าขายและโกดังเก็บของของเยาวราชเป็นหลัก คนก็เลยไม่ค่อยได้มา แต่พอเริ่มมีร้านอาหาร มีร้านกาแฟ มีที่ที่คนนอกสามารถเข้ามาได้ก็จะทำให้ย่านมีชีวิตชีวาขึ้น แต่ว่าเข้ามาในขนาดที่ไม่ได้มารบกวนมาก เพราะถ้ามาในขนาดใหญ่ก็คงจะวุ่นวายอยู่เหมือนกัน ถ้าเป็นแบบขนาดเล็กๆ แทรกอยู่ ก็น่าจะเป็นเสน่ห์ของย่านนี้เหมือนกัน

แอน: เรามองว่าการใช้งานของพื้นที่ตรงนี้มันเป็น mixed-use project จริงๆ อย่างข้างล่างยังเป็นโกดัง เป็นห้องเย็น คือยังเป็นกิจกรรมเดิมอยู่ แต่แค่แบ่งพื้นที่ส่วนนึงที่ชั้นบนมาเป็นกิจกรรมใหม่ มันก็เลยทำให้ทั้งสองฝั่งคือเราและเจ้าของตึกอยู่ร่วมกันได้ เราก็ไม่ได้ไปกระทบเจ้าของตึก เจ้าของตึกก็ไม่ได้กระทบอะไรกับเรา มันก็น่าจะเป็นโมเดลที่อยู่ด้วยกันได้แทนที่จะเป็นแบบที่อื่นที่มีปัญหา Gentrification (การปรับพื้นที่) ที่กิจกรรมใหม่เข้ามาครอบทั้งตึกโดยที่ไม่เหลือกิจกรรมเก่าเลย

แก้ม: ในเมืองเก่าบางส่วน ถ้าไม่มีกิจกรรมใหม่มันก็จะเงียบ เหมือนว่าตอนกลางวันร้านค้าเปิด ตอนกลางคืนเงียบ แทบจะไม่มีคนเหลืออยู่ในย่านนั้นจริงๆ ก็เลยคิดว่าถ้าสามารถแทรกกิจกรรมเหมือนที่เราทำโฮสเทลอยู่ตรงนี้ อย่างเส้นนี้ตอนกลางคืนก็จะเงียบ เลยคิดว่าถ้ามีกิจกรรมมาแทรก ทำให้มันอยู่ได้ตลอด อาจจะไม่ถึง 24 ชั่วโมง แต่ให้มีกิจกรรม ก็จะทำให้ย่านคึกครื้นขึ้น ย่านเมืองเก่า คนก็จะมามากขึ้น เพราะตรงนี้จริงๆ ตึกสวยมากทั้งเส้น แต่คนก็ไม่ได้มากันเท่าไหร่

แอน: เรามองว่าการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะย่านนี้หรือย่านกรุงเก่า เราโอเคกับการที่มันเปิดรับกิจกรรมใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ แต่ว่าตัวคนที่เข้ามาก็คงต้องเคารพคนเก่า กิจกรรมเก่า หรือตึกเก่าด้วย ไม่ใช่เปลี่ยนทุกอย่างทั้งหมด แต่คืออยากให้ใช้บริบทของพื้นที่ บริบทของตึก หรือบริบทของกิจกรรมเดิม แล้วเอามาปรับ ใหม่ให้มันเข้ากับตัวของเดิม แล้วก็ทำให้ของเก่า อะไรที่มันถูกแช่แข็งไว้ ถึงวันนึงมันก็คงไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้ามันสามารถปรับหรือ Rehabilitation (การฟื้นฟูสภาพ) ของใหม่เข้าไปแล้วมันผสมผสานเข้าด้วยกันก็น่าจะเป็นการอนุรักษ์ที่ทุกอย่างมันยั่งยืนต่อไปได้ ไม่ใช่แบบตึกเก่าก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไร ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันไม่สามารถเข้ากับโลกยุคใหม่ในอนาคตได้ แต่ถ้ารู้จักการปรับ คนเปิดรับกับสิ่งใหม่เข้ามา โดยคนที่เข้ามาก็ยังเคารพพื้นที่ มันก็น่าจะยังไปได้

ภาพอนาคตของย่านทรงวาดในมุมมองของเราเป็นแบบไหนแอน: เรามองว่ากิจกรรมการค้าส่งก็ยังอยู่ จริงๆ ในกิจกรรมค้าส่ง ไม่ว่าจะย่านเยาวราช สำเพ็ง ทรงวาด เรามองว่ามันเป็นก้อนเดียวกันซึ่งเป็นย่านการค้าระดับเมือง กิจกรรมการค้าส่งคงไม่ได้หายไปหรือว่าคงอีกนานมากกว่ามันจะหายไป เราก็มองเหมือนที่แก้มบอกว่ากลางคืนมันก็ยังมีช่วงเวลาที่โอกาสมันยังมี คือการแทรกกิจกรรมเข้าไปเหมือนอย่างที่เรากำลังทำกับย่านนี้ แล้วมันเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ว่าของเก่ายังอยู่ เราอยากให้ทรงวาดเป็นแบบนั้น เราไม่ได้อยากให้ทรงวาดเปลี่ยนไปเป็นของใหม่ทั้งหมด เพราะว่ามันก็ยังขาดเสน่ห์ของทรงวาด เราอยากให้มันผสมผสานกิจกรรมทั้งหมดเข้าด้วยกัน คือยังมีใหม่บ้าง ของเก่ายังอยู่บ้าง อยู่ด้วยกัน