คลองผดุงกรุงเกษม

ตอนที่ ๑ : คลองรอบพระนครชั้นนอกของกรุงรัตนโกสินทร์

คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองเส้นประวัติศาสตร์ที่ขุดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๙๕)  โดยขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร ขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ผ่านย่านเทเวศร์ นางเลิ้ง สะพานขาว ตัดผ่านคลองมหานาค แล้วไปยังย่านหัวลำโพง และไปออกปากคลองอีกด้านบริเวณย่านสี่พระยา รวมความยาวทั้งสิ้น ๕.๕ กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองทั้งทางด้านการคมนาคม และเศรษฐกิจของกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคนั้น

ปากคลองผดุงกรุงเกษมย่านตลาดน้อย ปัจจุบันคือบริเวณริเวอร์ซิตี้-ท่าน้ำสี่พระยา
ที่มาภาพ : ศูนย์ข้อมูลรัตนโกสินทร์
สะพานเจริญสวัสดิ์ สะพานข้ามคลองผดุง
ปัจจุบันคือสะพานข้ามแยกเชื่อม ถนนพระราม4 กับ ถนนมิตรภาพไทยจีน
ที่มาภาพ : ศูนย์ข้อมูลรัตนโกสินทร์

สภาพแวดล้อมของคลองในอดีต จะมีเรือบรรทุกสินค้าจอดเทียบอยู่ริมคลองเป็นระยะ ๆ เนื่องจากบริเวณริมคลองจะมีทั้งตลาดและชุมชนเป็นจำนวนมากเรียงรายอยู่สองฟากคลอง ไล่ลงมาตั้งแต่ปากคลองตอนเหนือ ก็จะมีย่านนางเลิ้งที่เป็นตลาดค้าข้าว อิฐ ปูนขาว และกระเบื้อง ต่อมาเป็นย่านคลองมหานาคก็จะเป็นตลาดผลไม้ ถัดลงมาเป็นย่านหัวลำโพงซึ่งเป็นที่พักสินค้าบรรทุกรถไฟมาจากต่างจังหวัดเพื่อรอการบรรทุกลงเรือหรือรถยนต์ และท้ายที่สุดคือบริเวณสะพานพิทยเสถียร (สะพานเหล็กล่าง) ซึ่งใกล้กับปากคลองทางด้านทิศใต้นั้นจะมีโรงสี โรงน้ำแข็ง บริษัทห้างร้านและโกดังสินค้ามากมายจากคำบอกเล่าของชาวชุมชนที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมในย่านตลาดน้อยนั้นพบว่าพื้นที่บริเวณนี้ได้เคยเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตโดยเฉพาะตลาด ซึ่งจะมีเรือค้าขายที่มาจากสถานที่ต่าง ๆ นำสินค้าเข้ามาขาย โดยเฉพาะผลไม้และของทะเลจึงทำให้คลองสายนี้เปรียบเสมือนชุมทางที่เต็มไปด้วยผู้คน

ดังเช่นที่ในจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ระบุถึงสภาพการค้าริมคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณสะพานพิทยเสถียรว่า “บริเวณริมคลองเป็นตลาดสินค้าประเภทต่าง ๆ และโรงสี มีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาจอดอยู่ตามริมคลองเป็นระยะ…ถัดไปจนถึงสะพานพิทยเสถียรมีสินค้าประเภทโอ่ง กระถาง ที่ผลิตในประเทศและมาจากประเทศจีน และมีโรงสี โรงน้ำแข็ง โกดังสินค้าต่าง ๆ ตั้งรายสองฟากคลองไปจนจรดแม่น้ำเจ้าพระยา…

คลองผดุงบริเวณย่านตลาดน้อยมองไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารสูง ๆ ที่เห็นคือ ห้างนายเลิศ อาคารสูงที่สุดในสมัยนั้น ปัจจุบันคือบริเวณชุมชนโชฎึก เขตสัมพันธวงศ์ และถนนมหาพฤฒาราม
ที่มาภาพ : ศูนย์ข้อมูลรัตนโกสินทร์
สะพานพิทยเสถียร สะพานข้ามคลองผดุง เชื่อมถนนเจริญกรุงฝั่งบางรักและตลาดน้อย
(ซ้ายมือคือโบสถ์กาลหว่าร์/ขวามือคือตึกหัวมุมเจริญกรุงปัจจุบัน)
ที่มาภาพ : ศูนย์ข้อมูลรัตนโกสินทร์

ภายในคลองผดุงกรุงเกษมมีมักจะมีเรือพืชผักผลไม้จากฝั่งธนบุรี ไม่ว่าจากสวนในคลองบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางมด ล่องเข้ามาค้าขายถึงบริเวณ “สะพานจงสวัสดิ์”  ซึ่งเป็นแหล่งค้าผลไม้ที่ขึ้นชื่อของกรุงเทพฯ ในขณะนั้น  มีการค้าขายอย่างคึกคัก จำหน่ายทั้งผลไม้ที่ปลูกภายในประเทศและต่างประเทศ คนที่มาซื้อส่วนใหญ่จะจับจ่ายเนื่องในเทศกาลงานบุญต่าง ๆ ปัจจุบันคงเหลือทำการค้าเพียงไม่กี่ร้าน ได้แก่ ร้านอาเฮ้งและร้านกัง

นอกจากนี้คลองผดุงกรุงเกษมยังเป็นคลองที่คั่นระหว่างย่านคนจีนในอำเภอสัมพันธวงศ์ และย่านของฝรั่งในอำเภอบางรักอีกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้คลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองที่ต้องอนุรักษ์ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้คลองสายนี้เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ตลอดแนวคลอง

ส่วนในคลองนั้นก็จะมีน้ำที่ใสสะอาดและต้นไม้อยู่เป็นจำนวนมากจึงทำให้ทั้งพ่อค้าแม่ขาย และเด็ก ๆ บริเวณใกล้เคียงมาเล่นน้ำหรือจับปลา ส่งผลให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้รู้จักกันเกือบหมดเพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมและการใช้ชีวิตร่วมกัน เกิดเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตและเรื่องราวที่น่าสนใจของย่านตลาดน้อยตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพงไปจนถึงบริเวณปากคลองที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

เพียงแต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวมาขั้นต้นได้เริ่มจางหายไปตั้งแต่มีการปิดปากคลองเพื่อสร้างประตูกั้นน้ำสำหรับป้องกันน้ำท่วมเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๐ จึงทำให้เรือไม่สามารถผ่านเข้าออกสู่คลองได้ และน้ำในคลองก็ไม่ใสสะอาดเหมือนเดิม แต่ยังคงพอมีเค้ารางให้เห็นและสามารถจินตนาการได้ถึงความสวยงามในอตีตจากหลักฐานในรูปถ่ายเก่าและร่อยรอยที่ปรากฎอยู่บนอาคารเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมมากมายหลายหลังที่อยู่บริเวณริมคลอง

และเมื่อกลับมาในยุคปัจจุบันนั้นจะพบว่าคลองผดุงกรุงเกษมได้เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา จากอดีตที่เคยคึกคักเพราะอยู่ในเส้นทางการค้าทางเรือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ตัวเมืองกรุงเทพฯชั้นใน แต่เมื่อระบบการขนส่งทางรถยนต์เข้ามาแทนที่การขนส่งทางน้ำ คลองจึงลดบทบาทลง  มีการสร้างถนนจำนวนมากเพื่อรองรับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นความแออัดที่คนกรุงเทพฯต้องทนทุกข์ร่วมกัน ขณะนี้ระบบการคมนาคมในกรุงเทพฯกำลังปรับตัวเข้าสู่ระบบรางและการคมนาคมขนส่งในแม่น้ำเจ้าพระยากลับฟื้นขึ้นมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะทางเลือกของการเดินทางอย่างรวดเร็ว  คนกรุงเทพฯอาจต้องหวนกลับมาให้ความสำคัญกับเส้นทางเก่า ๆ ในอดีตหลายเส้นที่กลายเป็นจุดเชื่อมต่อกับระบบการคมนาคมในโลกยุคใหม่ เส้นทางหนึ่งที่สำคัญคือทางเดินเลียบคลองผดุงกรุงเกษมจากแยกหัวลำโพง ถึงท่าน้ำสี่พระยาซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกับเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฟากไปสู่ฝั่งธนบุรี เนื่องจากเป็นเส้นทางมีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และความร่มรื่นเป็นจุดสนใจ

นอกจากนี้ยังเป็นทางเดินเลียบคลองที่มีความร่มรื่นด้วยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ที่คอยปกคลุมเพียงแห่งเดียวของไชน่าทาวน์บางกอกก็ว่าได้ แต่เนื่องจากยังไม่ค่อยมีผู้คนที่ใช้มากมายนัก และขาดการจัดการที่ดีในบริเวณทางเท้าหรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหากชาวเมืองเกิดการรับรู้และเห็นคุณค่าร่วมกันในคลองแห่งนี้ ก็น่าจะมีส่วนช่วยเรียกร้องและผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูสภาพคลองให้มีสภาพที่ดีขึ้น ที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะริมฝั่งคลองให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่เอื้อต่อการฟื้นฟูวิถีชีวิต และกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านต่างๆริมฝั่งคลอง ซึ่งจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นตัวอย่างพื้นที่สร้างสรรค์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมือง

ที่มาบทความ

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ. 2556. คลองผดุงกรุงเกษม คลองที่กลับมามีบทบาทอีกครั้งกับกรุงเทพฯในยุคระบบราง. วานสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 3.