ในอดีตย่านไชน่าทาวน์เยาวราช มีตลาดสดที่มีชื่อเสียงที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า “ตลาดเก่าเยาวราช” สถานที่แห่งนี้ คนไทยเชื้อสายจีนนิยมมาจับจ่ายใช้สอยและซื้อสินค้าประเภทของสด ของแห้ง และเครื่องปรุงต่างๆ เพื่อประกอบอาหารในงานเทศกาลประเพณีที่สำคัญๆ ในปัจจุบัน ตลาดเก่าเยาวราชได้ปิดตัวลงเนื่องจากมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดในซอยศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะที่เคยเป็นส่วนขยายของตลาดเก่าฯ กลายเป็นตลาดแห่งเดียวในย่านเยาวราช ที่ยังคงขายสินค้าเกี่ยวกับการประกอบอาหารตามเทศกาลประเพณีของชาวจีนมาจนถึงปัจจุบัน
ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องของตลาด เรามาทำความรู้จักสถานที่สำคัญของบริเวณนี้กันก่อนนั่นก็คือ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วเก่าแก่ เป็นที่นับถือศรัทธาและกราบไหว้บูชาเพื่อความเจริญก้าวหน้าในกิจการค้าขาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีน จากข้อมูลของศาลเจ้าได้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศาลเจ้าที่มีอายุยาวนานที่สุดในประเทศไทย โดยมีหลักฐานจากป้ายจารึกของศาลเจ้าที่เขียนเป็นภาษาจีนว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2201 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง ภายในมีแท่นบูชารูป เล่งบ๊วยเอี๊ยะ และภรรยา ฝั่งซ้ายมือตั้งแท่นเทพเจ้ากวนอู และฝั่งขวามือเป็นแท่นประทับราชินีแห่งสวรรค์ ส่วนด้านขวาใกล้ประตู เป็นที่ตั้งระฆังโบราณที่สร้างมาแต่รัชสมัยเต้ากวงฮ่องเต้ ช่วงปลายราชวงศ์ชิง และกระถางธูปพระราชทานจากรัชกาลที่๕ (ที่มา, แผ่นป้ายบริเวณหน้าศาลเจ้า)ความสัมพันธ์ของศาลเจ้ากับชุมชน เป็นศูนย์รวมด้านวัฒนธรรม ประเพณีของชาวจีน ได้แก่ เทศกาลตรุษจีน หง่วนเซียว งานซิกโกว (ทิ้งกระจาด)งานไหว้พระจันทร์ และเทศกาลเสี่ยซิ้ง หรือการไหว้ขอบคุณเจ้าประจำปี นอกจากนี้ยังมีประเพณีย่อยๆ ในการสักการะเจ้าแต่ละองค์อีกด้วย ที่ตั้งอยู่ใน ซอยเยาวราช 6 (ตรอกอิสรานุภาพ)ถนนเยาวราช หรือเข้าซอยเจริญกรุง 16 จากถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร



อดีต
ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เป็นตลาดที่ขยายตัวมาจากตลาดเก่า ช่วงเวลาที่การค้าขายในตลาดเก่ารุ่งเรือง ทำให้พื้นที่ทางการค้าล้นออกมาถึงซอยศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ จนกลายเป็นตลาดที่มีความต่อเนื่องกับตลาดเก่า และเรียกชื่อตามสถานที่สำคัญของบริเวณนั้นคือศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ จากคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมาเกี่ยวกับบ้านเจ้าสัวเนียมที่เป็นเจ้าของตลาดเก่าก็อยู่ในซอยนี้ ตลาดในยุคแรกมีลักษณะเป็นแผงลอยขายผัก ต่อมามีการสร้างตึกแถว และเริ่มจัดวางสินค้าโดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านเป็นที่วางสินค้า มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาวางขาย หรือบางครั้งมีบริษัทนำเข้าสินค้ามาติดต่อให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า เพราะเห็นว่าบริเวณนี้มีคนมาจับจ่ายข้าวของจำนวนมาก คุณภิชาติ บุญสัมพุทธ ประธานชุมชนเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เล่าว่า ตนเองเป็นรุ่นที่ 5 ของครอบครัวที่มีเหล่ากง เหล่าม่าเป็นผู้บุกเบิกและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ จำได้ว่าบ้านหลังเก่ามีลักษณะครึ่งปูนครึ่งไม้ มีอายุมากกว่าร้อยปี สภาพเริ่มทรุดโทรมและคับแคบ จึงได้ทำการปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้นเช่นปัจจุบัน สภาพของตลาดในขณะนั้นไม่ค่อยเรียบร้อยนัก พื้นจะขรุขระ แฉะ ต่อมาสำนักงานเขตสัมพันธ์วงศ์ได้เข้ามาปรับปรุง จนสะอาดและเดินสะดวกกว่าแต่ก่อน
ปัจจุบัน
การค้าของคนดั้งเดิมเริ่มถึงจุดอิ่มตัวเพราะค้าขายมานาน บางส่วนจึงขยับขยายย้ายออกไป ปัจจุบันมีคนจีนเข้ามาเช่าบ้านอยู่อาศัยและทำการค้า สังเกตได้จากสินค้าที่ขายจะเป็นจำพวกใบชา เห็ดหอมแห้ง เป็นหลัก อาจมีเครื่องปรุงจากประเทศจีนปะปนอยู่บ้าง ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ผู้ขายจะมีอายุไม่มากนัก พูดไทยไม่ชัด เนื่องจากเริ่มเรียนภาษาไทยได้ไม่นาน การสื่อสารด้วยภาษาไทยไม่ชัดเจน สามารถบอกราคา และบรรยายสรรพคุณของสินค้าได้ไม่มากนัก


สินค้าในตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะมีทั้งของสด อาหารปรุงสำเร็จ เครื่องปรุง และของแห้งหลากชนิด สินค้าเหล่านี้มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและไม่มีขายในตลาดทั่วไป ประเภทของสด ได้แก่ ปลา กุ้ง พูดถึงปลา คงต้องเป็นปลาจีนที่สดขนาดที่ถูกตัดเป็นสองท่อน ปลายังคงหายใจทางปากพะงาบๆอยู่เลย ของสดที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ปลิงทะเล ตัวใหญ่ อ้วน ดำ มีสรรพคุณในเรื่องการบำรุงร่างกาย ส่วนใหญ่เป็นปลิงที่นำเข้าจากต่างประเทศเพราะคุณภาพดีกว่าในประเทศ สนนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 3,000-4,000 บาท หรือบางครั้งอาจราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 7,000 บาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ เป๋าฮื้อกระป๋องคุณภาพดีก็สามารถหาซื้อได้ที่นี่เช่นกัน ในบางช่วงเราอาจพบของสดที่มาจากจีน เช่น เมล็ดถั่วดำสด หรือสินค้าตามฤดูกาลอื่นๆ หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป และเป็นสินค้าที่ขายหมดวันต่อวัน


ส่วนของแห้งได้แก่ ชาชนิดต่างๆ เห็ดหอม เห็ดหูหนู ฟองเต้าหู้ ดอกไม้จีน ดอกเก็กฮวย กุหลาบแห้ง หน่อไม้แห้ง ผักกาดแห้งหมักเกลือ รวมถึงเครื่องปรุงหลากชนิดที่นำเข้าจากประเทศจีนและประเทศใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบสำหรับทำบะหมี่ หม่าไหล่ก๊อ (ซาลาเปาสีแดง) และเครื่องเทศนานาชนิดของร้านง่วนสูน พริกไทยตรามือที่ 1 ร้านนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2497 จากร้านชำเล็กๆ จนปัจจุบันเป็นผู้ผลิตพริกไทยป่นรายใหญ่ที่มีตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ


สำหรับอาหารปรุงสำเร็จ ที่นี่จัดว่าเป็นแหล่งรวมของอร่อยหลากชนิด มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมายาวนาน ได้แก่ ร้านข้าวแกงบริเวณหน้าศาลเจ้าที่จะขายเฉพาะช่วงเช้า รสชาติและฝีมือระดับปิ่นโตเถาเล็กการันตีความอร่อย ร้านต่อมาคือเกี่ยมฉ่ายเจ๊แดงที่ใส่น้ำมันงา มีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม จะขายดีมากในช่วงเทศกาลกินเจ ร้านอ่วงซุย ขายขนมจีบ ร้านบะหมี่ฮ่องกง(Hong Kong Noodles) ร้านเฉินติ่มซำ ร้านฮั่วเซ่งฮง และที่มีชื่ออีกอย่างคือนมอัลมอนด์แบบจีนดั้งเดิม รสชาติเข้มข้นชื่อเห้งหยิ่งแต๊ ฉั่งแปะ

ในอดีตตลาดแห่งนี้จะคึกคักตลอดทั้งปี เพราะเป็นแหล่งของสด เครื่องปรุง และผลไม้นำเข้าคุณภาพดี แต่ด้วยวันเวลาที่เปลี่ยนไป ของสด เครื่องปรุง และผลไม้นำเข้าหลากชนิด สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ทุกมุมเมือง ประกอบกับคนเริ่มทำอาหารน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องหาซื้อของสดทุกวันเช่นแต่ก่อน ตลาดจึงมีผู้คนมาจับจ่ายบางตาในวันปกติ แต่จะขายดีมากในช่วงเทศกาลประเพณีต่างๆ ขายดีจนแม่ค้าไม่ได้หลับได้นอน เรียกว่าขายกันทั้งวันทั้งคืนเลยทีเดียว สำหรับเทศกาลต่อไปที่ใกล้จะมาถึง คือ เทศกาลไหว้เสี่ยซิ้ง ขอบคุณเจ้าปลายปีประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ตลาดก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
อนาคต
ในอนาคตอันใกล้ เมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเริ่มใช้งาน การขนส่งด้วยระบบรางโดยมี “สถานีมังกร” เป็นสถานีสำคัญที่ขนถ่ายคนจำนวนมากเข้ามาสู่ย่านเยาวราช การขนส่งด้วยระบบราง ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของย่านนี้อย่างไม่อาจคาดเดาได้ อย่างไรก็ตามพ่อค้า แม่ค้าในตลาดแห่งนี้ก็เริ่มปรับตัว โดยคาดการณ์ว่า เมื่อมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น อาจต้องมีการปรับปรุงหน้าร้าน ปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการนำขึ้นรถไฟฟ้า หรือเพิ่มการบริการรับส่งสินค้าให้ถึงบ้าน สำหรับบริเวณภายในตลาดต้องมีการปรับสภาพแวดล้อมให้มีความเป็นระเบียบ สะอาด เช่น การปรับพื้นถนน หรือทำหลังคาเพื่อความร่มรื่นในการเดินจับจ่ายสินค้า จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลาดและย่านการค้ามักเกิดขึ้นตามเส้นทางการสัญจร และพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของการพัฒนาเมือง ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะก็เช่นกัน จากพื้นที่การค้าที่ขยายตัวออกมาจากตลาดเก่าเยาวราช จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นตลาดสดเพียงแห่งเดียวของย่านเยาวราชที่ยังคงขายสินค้าที่มีคุณภาพให้กับคนไทยเชื้อสายจีน เพื่อใช้ประกอบอาหารตามประเพณี นั่นหมายความว่า “ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ” เป็นตลาดที่มีส่วนสำคัญในการค้ำจุน
ที่มา : คอลัมน์ โล้สำเภา
วารสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 1 ปี 2562
ผู้เขียน: ศรินพร พุ่มมณี
ภาพ: ศรินพร พุ่มมณี / ชัชพงศ์ กมลศักดิ์พิทักษ์